11 ธันวาคม 2551

14: สำเนียงแซกให้มีคุณภาพ

สำเนียงแซกโซโฟน (Intonation)

    การเป่าแซกโซโฟนให้มีสำเนียงที่ถูกต้อง หรือจะไม่ให้เพี้ยนนั้น อาศัยองค์ประกอบหลายประการ อาจจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนบางคน แต่ก็ไม่เสมอไป สาเหตุการเป่าเพี้ยนหรือเสียงที่ออกมาเพี้ยนพอจะสรุปได้ดังนี้

  • การได้ยินเสียงไม่ถูกต้อง  ในวงการนักดนตรีด้วยกันคุณคงเคยได้ยินคำว่า คนนั้นเพี้ยนบ้างคนโน้นเพี้ยนบ้าง ความเพี้ยนที่ว่านั้นเป็นการได้ยินเสียงเพี้ยนไปจากเสียงจริง การเป่าถ่ายทอดเสียงที่ได้ยินย่อมเพี้ยนไปด้วย เหมือนกับการที่ได้ยินได้ฟังนิทานที่ผิดเพี้ยนไปจากความเดิม การเล่าต่อสู่ผู้ฟังอื่นข้อความย่อมผิดเพี้ยนตามที่ได้ยินมา
  • หูหรือการได้ยินเสียงที่ถูกต้องนั้นเป็นพรสวรรค์เบื้องต้นอันประเสริฐสำหรับนักดนตรี จาใช้ว่าตนหูเพี้ยนแล้วไม่สามารถเป็นนักดนตรีได้ ขึ้นอยู่กับว่าเพี้ยนนั้นควรจะได้รับการฝึกการได้ยินเสียงที่ถูกต้อง ก็จะสามารถเปลี่ยนเป็นสมบูรณ์ได้
  • ความเครียดของการวางปาก  ความเครียดของการวางปากอาจเกิดขึ้นได้โดยเฉาะริมฝีปากด้านบน เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียงเพี้ยน ตัวโน้ตยิ่งสูงเสียงยิ่งเพี้ยน เนื่องจากความเครียดของกล้ามเนื้อมากขึ้น การคลายความเครียดของกล้ามเนื้อบริเวณริมฝีปากด้านบน มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเป่าแซกโซโฟนให้ดูแบบฝึกหัดท้ายบทเรื่องบทฝึกสำหรับเสียงเกิน
  •  การเปลี่ยนตำแหน่งขากรรไกรเมื่อเป่าเสียงที่ต่างกัน  อาจจะเป็นความรู้สึกทางธรรมชาติก็เป็นได้ที่ว่า เมื่อนักแซกโซโฟนเห็นตัวโน้ตต่ำก็มักจะลดขากรรไกรให้ต่ำตามลงไปด้วย หรือบางครั้งขากรรไกรอาจจะเกร็งเกินไปในขณะเป่า ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียงแซกโซโฟนที่ออกมาเพี้ยนไปจากเสียงที่ควรจะเป็น ขอย้ำอีกครั้งว่าตำแหน่งของขากรรไกรจะไม่เคลื่อนไมว่าจะเป่าในระดับเสียงสูงหรือเสียงต่ำ ตำแหน่งของขากรรไกรจะอยู่คงที่
  •  การวางตำแหน่งของกำพวดผิดที่  ความตื้นลึกของการอมกำพวดน้อยหรือมากเกินไป หรือความไม่เท่ากันในการอมกำพวดระหว่างด้านบนของกำพวด และด้านล่างที่มีลิ้นอยู่ ก็เป็นสาเหตุให้เสียงแซกโซโฟนที่เป่าออกมาเพี้ยนได้
  •  กำพวดและการวางปากไม่เหมาะสมกัน  ความเหมาะสมของแต่ละบุคคลย่อมขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ประกอบขึ้นในร่างกายของแต่ละบุคคลเป็นองค์ประกอบการเลือกกำพวดให้เหมาะนั้นขึ้นอยู่กับการทดลองเป่ากับกำพวดหลาย อัน แล้วเลือกกำพวดที่สามารถเป่าออกเสียงได้สะดวกและเพี้ยนน้อยที่สุด
  •  เครื่องเพี้ยน  แซกโซโฟนบางคันไม่มีมาตรฐานในการประกอบ ทำให้เสียงที่เป่าออกมานั้นเพี้ยนอย่างไม่สามารถจะแก้ไขได้ นอกจากเปลี่ยนเครื่องใหม่ แต่ลักษณะความผิดปกติบางอย่างของเครื่องที่ทำให้เสียงเพี้ยนก็ยังมีโอกาสที่จะซ่อมได้โดยช่างซ่อมที่มีความรู้ความชำนาญ

                  ลักษณะที่ 1         สำเนียงทางทำนอง (Melodic Intonation) ความถูกต้องของสำเนียงในแนวทำนอง

                  ลักษณะที่ 2         สำเนียงในทางประสาน (Harmonic Intonation) ความถูกต้องของสำเนียงในแนวประสาน

พัฒนาการเป่าให้มีสำเนียงที่ถูกต้องได้ระดับนั้น อาศัยการฝึกและการฟังเป็นปัจจัยสำคัญ

  • ฝึกเป่าให้ได้เสียงที่เป็นจุดกลางของเสียง (ดูบทที่ว่าด้วยการฝึกเป่าให้เสียงมีคุณภาพ) และฝึกบันไดเสียงทุกบันไดเสียง
  • ฝึกเป่าขั้นคู่ 3 ของบันไดเสียง โดยเป่าช้า เพื่อจะได้มีโอกาสฟังเสียงได้ชัด ในขณะที่เป่าควรฝึกในทุกบันไดเสียง
  • เป่าขั้นคู่ในคอร์ดของบันไดเสียง ควรฝึกในทุกบันไดเสียง
  • แบบฝึกหัดที่ทำให้เกิดความคล่องของนิ้ว พร้อมทำให้สำเนียงดีขึ้น และช่วยคลายความเครียดของกล้ามเนื้อของริมฝีปากด้านบนละด้านล่าง ควรฝึกในทุกบันได้เสียง

 สิ่งควรปฏิบัติเมื่อเป่าในระดับเสียงสูงแล้วสำเนียงเพี้ยนสูง

  • คลายความเครียดของริมฝีปากล่าง โดยเฉพาะลดแรงกดที่มีต่อลิ้นปี่ให้น้อยลง
  • คลายความเครียดของกล้ามเนื้อบริเวณริมฝีปากแต่ไม่ลดขากรรไกรให้ต่ำลง
  • เมื่อปฏิบัติตามข้อ 1 และ 2 แล้ว สำเนียงยังเพี้ยนสูงอยู่ ให้กดแป้นนิ้วของมือขวาลง
  • อย่าลืมว่าเครื่องมือควรอยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุด ควรได้รับการตรวจสอบด้วยช่างผู้ชำนาญอย่างน้อยปีละครั้ง เพราะแป้นนวมอาจจะห่างหรือแคบเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุให้สำเนียงเพี้ยนได้
  • ลองใช้นิ้วแทน เพื่อฟังความแตกต่างของเสียง ระหว่างเสียงที่ใช้นิ้วแท้และเสียงที่ใช้นิ้วแทน

ไม่มีความคิดเห็น: