11 ธันวาคม 2551

11: การวางปากในการเป่า

การวางปากในการเป่าแซกโซโฟน

    การวางปากในการเป่าแซกโซโฟน หมายถึง อวัยวะที่ใช้ในการเป่าบริเวณริมฝีปาก คางตลอดจนกล้ามเนื้อรอบปากที่รัดรอบกำพวด และลิ้นแซกโซโฟนการวางปากเป็นหัวใจสำคัญในการเป่าแซกโซโฟน

องค์ประกอบที่สำคัญในการวางปากแซกโซโฟน

โครงสร้างของรูปหน้า

         รูปหน้ามีส่วนช่วยให้การเป่าแซกโซโฟนง่ายขึ้น และช่วยในการเลือกแซกโซโฟนให้เหมาะสมกับใบหน้า เช่น

  • คางรูปสี่เหลี่ยม  จะมีความยาวของกระดูกด้านหน้ามากกว่าปกติ ซึ่งเหมาะสำหรับแซกโซโฟนที่มีกำพวดขนาดใหญ่ เช่น เทนเนอร์ บาริโทน หรือเบส
  • คางรูปแหลม  จะเหมาะสำหรับแซกโซโฟนที่มีกำพวดขนาดเล็ก เข่น โซปราโน หรืออัลโต
  • ฟันบนยื่น  โดยทั่วไปบุคคลที่มีลักษณะฟันบนยื่นมักจะง่ายแก่การปรับในการวางปากแซกโซโฟน เว้นไว้แต่ว่าฟันจะยื่นเกินไปจนไม่สามารถปรับได้
  • ฟันล่างยื่น  เหมาะแก่การปรับให้เข้ากับกำพวดที่ใหญ่ เช่น เทนเนอร์ หรือบาริโทน เพราะไม่จำเป็นต้องอ้าปากกว้างมากนักในการเป่า แต่ยากสำหรับที่จะปรับให้เข้ากับกำพวดที่เล็กอย่างโซปราโน หรืออัลโต

 กล้ามเนื้อบริเวณปาก

         กล้ามเนื้อบริเวณริมฝีปากมีความสำคัญในการเป่าแซกโซโฟน ริมฝีปากจะต้องไม่เครียดและเป็นไปอย่างธรรมชาติที่สุด ริมฝีปากมีหน้าที่รวบกำพวดไม่ให้ลมรั่วเท่านั้น พึงระลึกเสมอว่าริมฝีปากไม่รัดหรือเกร็ง ริมฝีปากบนและล่างทำงานเป็นคู่ ถ้าด้านใดด้านหนึ่งเกร็งอีกด้านหนึ่งจะเกร็งตามด้วย ฟันบนและริมฝีปากบนทำงานเป็นคู่ ทำหน้าที่ตั้งรับและโต้ตอบกำพวดฟันล่างและริมฝีปากล่างทำงานเป็นคู่ ทำหน้าที่สนับสนุนกำพวด

         การวางองค์ประกอบเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะสามารถเปลี่ยนเสียงที่เป่าออกมาได้สารพัด เท่าที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด เป็นสิ่งที่นักแซกโซโฟนควรคำนึง

         สิ่งที่สำคัญคือ การเป่าแซกโซโฟนใช้แรงกดดันของขากรรไกร หรือการรัดตัวของกล้ามเนื้อบริเวณริมฝีปากไม่ใช่ใช้ฟันกัด

การพัฒนากล้ามเนื้อบริเวณปาก

         การพัฒนากล้ามเนื้อบริเวณปากที่จะใช้ในการเป่าแซกโซโฟน ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อพัฒนาโดยปฏิบัติทุกวัน ละ 5 นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อมีความคุ้นเคยโดยเฉพาะริมฝีปากล่าง ฟันล่างและมุมปาก

ข้อแนะนำในการเตรียมกล้ามเนื้อเพื่อเป่าแซกโซโฟน

         กล้ามเนื้อมุมปาก การหาจุดศูนย์กลางของปาก เพื่อใช้ในการเป่านั้นอาศัยการวัดจากมุมปากทั้งสองข้าง กล้ามเนื้อที่มุมปากควรจะพัฒนาให้แข็งแรงพอสมควร โดยฝึกการยิ้มในลักษณะริมฝีปากบิด ขณะยิ้มให้ดึงมุมปากไปด้านหลังให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วปล่อยกล้ามเนื้อให้สู่สภาพปกติ ผิวปากให้มีเสียงต่ำมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจจะเริ่มด้วยเสียงปกติก่อนแล้วค่อย ปรับเสียงให้ต่ำลงจนต่ำที่สุด เพื่อเปิดหลอดลมให้กว้าง ให้ฝึกการยิ้มโดยปิดปากและผิวปากเสียงต่ำสลับกันประมาณ 50 ครั้ง หลังจากครั้งที่ 50 จะรู้สึกเมื่อยริมฝีปากจึงหยุดการฝึก กระจกจะเป็นครูที่ดีที่สุดที่จะใช้ในการฝึก

         กล้ามเนื้อที่คาง ดึงกล้ามเนื้อริมฝีปากล่างให้แนบกับคาง ในขณะเดียวกันควรรักษาเส้นรอบปากให้อยู่ในลักษณะเส้นตรง พยายามให้กล้ามเนื้อริมฝีปากและกล้ามเนื้อบริเวณคางแนบติดกับกระดูกคางแน่นเท่าที่จะแน่นได้ ดึงไว้ประมาณ 10 วินาที ประมาณ 25 ครั้ง

         นำเอาลักษณะที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดมารวมกัน เริ่มต้นด้วยผิวปากเสียงต่ำ แล้วค่อย ดึงมุมปากทั้งสองข้างไปสู่ลักษณะยิ้ม แต่ลักษณะการผิวปากยังคงรูปอยู่แล้วค่อยดึงกล้ามเนื้อของริมฝีปากล่างให้แนบติดกับคาง ดึงขากรรไกรล่างลงเล็กน้อย รวมแล้วก็จะได้ลักษณะของปากในการเป่าแซกโซโฟน ความสัมพันธ์ระหว่างกำพวดกับปาก แรงรัดกำพวดที่ใช้ในการเป่ามีอยู่ 2 ชนิดคือ แรงรัดที่เกิดจากริมฝีปากและแรงรัดที่เกิดจากคาง ให้ใช้แรงรัดที่เกิดจากคาง เพราะเหตุว่าคางมีความเที่ยงกว่าริมฝีปากและสามารถควบคุมแรงรัดได้นานกว่า

         ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเป่าและเป็นมูลเหตุให้เสียงที่เป่าออกมาไม่ชัด การวางปากและการใช้ลมเป็นจุดแรกที่จะต้องคำนึงก่อน ไม่ใช่แก้ปัญหาโดยใช้ลิ้นในการเป่าให้แรงขึ้น อีกประการหนึ่งแรงรัดในการเป่าต้องอยู่ในลักษณะที่คงที่ไม่หย่อนหรือไม่แน่นไป

ตำแหน่งของกำพวดขณะเป่า

  ตำแหน่งของกำพวดขณะเป่าที่แน่นอนนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ขนาดของกำพวด โครงสร้างของรูปหน้า แต่อย่างไรก็ตามแซกโซโฟนทุกขนาดอาศัยพื้นฐานการวางปากที่เหมือนกัน เพียงแต่ปรับให้เข้ากับขนาดเล็กหรือใหญ่เท่านั้น สิ่งที่สำคัญก็คือ ตำแหน่งของกำพวดต้องอยู่ตรงกลางระหว่างมุมปากทั้งสอง เพราะกระแสลมที่เป่าจะตรงเข้าสู่กำพวดตรงกลางพอดี

  ความลึกของการกำพวดแซกโซโฟนอาจจะวัดได้โดย เอากระดาษพิมพ์อย่างบางสอดเข้าไประหว่างกำพวดและลิ้นแซกโซโฟนจนสุด ด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจจะทำให้ลิ้นแตกได้ ใช้ดินสอจุดทำเครื่องหมายบริเวณที่กระดาษหยุด นั่นคือบริเวณที่จะอมกำพวด ใช้หัวแม่มือข้างใดข้างหนึ่งจับไว้ที่สุด แล้วอมกำพวดจนจดที่จุดหัวแม่มือ ความลึกทั้งด้านบนของกำพวดและด้านล่างของลิ้นเท่ากัน กล้ามเนื้อริมฝีปากรัดรอบกำพวด สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ให้ใช้หูฟังเสียงเป่าว่าควรให้กำพวดลึกเพียงใดเสียงถึงจะมีคุณภาพ

 ข้อสังเกตในการวางปาก

  • ริมฝีปากตั้งอยู่บนฟันล่าง ประมาณจุดกลางของริมฝีปากอ่อน โดยอาศัยแรงสนับสนุนจากขากรรไกรในการคาบกำพวด
  • กล้ามเนื้อริมฝีปากล่างและกล้ามเนื้อบริเวณคาง แนบกับกระดูกคาง ต้องแน่ใจว่ากล้ามเนื้อไม่โป่งออกมา
  • มุมปากทั้งสองข้างแนบแน่นอย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุด
  • กล้ามเนื้อริมฝีปากบนและล่างทำงานเป็นคู่ รวบรอบกำพวดอย่างเป็นธรรมชาติ
  • ฟันบนเพียงแตะกำพวดเท่านั้น ไม่กัด
  • การวางปากจะอยู่ในท่าเดียวกัน ไม่ว่าจะเป่าเสียงสูงหรือเสียงต่ำ ไม่ลดขากรรไกรให้ต่ำเมื่อเป่าเสียงต่ำ และไม่รัดกล้ามเนื้อริมฝีปากแน่น เมื่อเป่าเสียงสูง
  • ถ้ามีเสียงลมออกมาจากริมฝีปากข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง แสดงว่ากล้ามเนื้อริมฝีปากรวมไม่สนิท
  • ถ้าเสียงที่เป่าออกมาเหมือนกับเสียงห่านร้อง ยากแก่การควบคุมแสดงว่าอมกำพวดลึกเกินไป
  • ถ้าเสียงที่เป่าออกมาพร่ามีเสียงลมออกมาก่อน แสดงว่าแรงสนับสนุนจากขากรรไกรน้อยเกินไป
  • ถ้าเสียงที่เป่าออกมามีความบางแหบค่อย แสดงว่าอมกำพวดน้อยเกินไป
  • ถ้าเสียงที่เป่าออกมาเพี้ยนสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะเสียงต่ำยากแก่การเป่า คุณภาพของเสียงบางเหมือนออกไม่เต็มเสียง อาจจะเป็นเพราะว่าใช้ฟันกัดกำพวด หรือกล้ามเนื้อริมฝีปากรัดกำพวดแน่นเกินไป
  • ถ้าเสียงแหลมเหมือนหนูร้องออกมาจากแซกโซโฟน แสดงว่าส่วนบนและส่วนล่างของกำพวดอยู่ในปากไม่เท่ากัน
  • น้ำหนักของแซกโซโฟนควรอยู่บนสายคล้องคอ ไม่ใช่อยู่บนริมฝีปากล่างหรือบนหัวแม่มือขวา
  • ต้องแน่ใจว่า ขณะที่เป่าไม่เก็บลมไว้ที่แก้มจนแก้มป่องให้ใช้กระจกส่องดู
  • ไม่ลดขากรรไกรให้ต่ำลงเมื่อเป่าเสียงต่ำ
  • หลอดลมอยู่ในลักษณะเปิดตลอดเวลาที่เป่าให้ออกเสียง ออ ซึ่งเป็นลักษณะที่หลอดลมเปิด เวลาเป่าหลอดลมจะอยู่ในลักษณะเหมือนเวลาออกเสียง ออ

         ฟันบนและริมฝีปากบนทำงานคู่กันเสมือนแฝดซึ่งเป็นฝ่ายรับและฝ่ายต้าน ทำนองเดียวกันริมฝีปากล่างวางบนฟันล่าง เสมือนแฝดเป็นฝ่ายกดรัดกำพวดไปยังฝ่ายรับริมฝีปากบนและฟันล่าง แต่กระนั้นก็ตามกล้ามเนื้อทุกส่วนที่ประกอบในการวางปากจะต้องอยู่ในลักษณะธรรมชาติที่สุดไม่เกร็ง แบบฝึกหัดสำหรับคลายความเครียดของกล้ามเนื้อริมฝีปาก ขอย้ำอีกครั้งว่าเป็นแบบฝึกหัดสำหรับคลายความเครียดของริมฝีปากเท่านั้น ไม่ใช่ลักษณะที่เป่าแซกโซโฟนโดยปกติ

         ให้เป่าเสียง G แล้วใช้นิ้วชี้ของมือขวา เผยอริมฝีปากบนด้านใดด้านหนึ่งให้สูงขึ้นในขณะที่เป่า ซึ่งจะทำให้มีลมออกมาพร้อมกับเสียงแซกโซโฟน แล้วเปลี่ยนไปเผยอริมฝีปากอีกด้านหนึ่งในลักษณะเช่นเดียวกัน เมื่อเผยอเสร็จทั้งสองข้างแล้วค่อยเผยอริมฝีปากบนโดยไม่ต้องใช้นิ้วช่วย ดูกระจกในขณะฝึก เผยอให้สามารถมองเห็นฟันหน้าสองซีก

 

1 ความคิดเห็น:

wipawee MONO SAX กล่าวว่า...

ได้อะไรดีๆเยอะค่ะ
ขอบคุณค่ะ