11 ธันวาคม 2551

19: การฝึกแซกโซโฟน

การฝึกแซกโซโฟน

         เมื่อพูดถึงการฝึกอาจพูดได้ว่าการฝึกเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจน้อยมากในวงการนักดนตรีของไทยเรา โดยแต่ละคนอาจจะมีเหตุผลต่าง กัน

         เหตุผลที่กล่าวมานั้น เป็นการสร้างลักษณะนิสัยที่ไม่ดีต่อการฝึก ขาดความรู้ความเข้าใจในตัวนักดนตรี เพราะที่จริงแล้วความเป็นเอกมาจากการฝึก นักแซกโซโฟนเอกของโลกยังต้องฝึก ความเก่งของนักแซกโซโฟนเอกเหล่านั้นมาจากการฝึกที่ถูกต้อง

            ปรัชญาของการฝึก ฝึกทำให้ทุกอย่างสมบูรณ์ เพราะการฝึกที่ผิดเป็นเหตุให้ปฏิบัติผิด

         การฝึกคือ การพัฒนาไปสู่ความเก่ง พัฒนาทักษะ กล้ามเนื้อ และพรสวรรค์ทางดนตรีให้เจริญไปในทางที่ถูกต้อง

         การฝึกและการบรรเลงมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน การบรรเลงนั้นเป็นการแสดงในที่สาธารณชน ข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นไม่อาจจะกลับไปแก้ไขได้ต้องปล่อยให้ผ่านไป และที่สำคัญก็คือการบรรเลงเป็นการอวดวิทยายุทธ์ที่ได้ฝึกมา อวดความสามารถในการบรรเลงที่จะถ่ายทอดอารมณ์ทางดนตรีไปสู่ผู้ฟัง

         ส่วนจุดประสงค์ของการฝึกนั้นเป็นการเรียนรู้ทักษะการควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเป่าแซกโซโฟน ไม่ว่าจะเป็นริมฝีปาก ระบบการหายใจ นิ้ว สมาธิ ฝึกระบบประสาทให้ตอบสนองต่อดนตรี ฝึกหูให้เคยชินกับเสียงที่ถูกต้อง แก้ไขข้อบกพร่องให้สมบูรณ์

ฝึกที่ไหน

         สถานที่ฝึก ควรเป็นสถานที่ที่สงบสามารถสร้างสมาธิในการฝึกโดยไม่มีสิ่งใดมารบกวนหรือไม่รบกวนบุคคลอื่น ห้องฝึกควรเป็นห้องส่วนบุคคล อากาศถ่ายเทได้สะดวก อุณหภูมิเหมาะสมประมาณ 75F ในห้องควรจะมีกระจกไว้สำหรับตรวจสอบในการวางปากและท่าทางในการเป่า ถ้าเป็นไปได้ควรมีเปียโนสำหรับการบรรเลงประกอบ

ฝึกเมื่อไร

         การฝึกควรปฏิบัติให้เป็นกิจวัตรประจำวัน นักเรียนแซกโซโฟนควรมีเวลาฝึกอย่างน้อยวันละ 2 ชั่วโมง นักแซกโซโฟนอาชีพควรฝึกอย่างน้อยสม่ำเสมอ ไม่ควรที่จะฝึกวันเดียว 10 ชั่วโมง แล้วหยุดไป 10 วัน ในขณะฝึกเมื่อรู้สึกเหนื่อยควรจะหยุดพัก เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะฝืน เมื่อร่างกายอ่อนเพลียไม่สามารถควบคุมได้ทำให้การเรียนรู้ได้ผลน้อย นอกจากจะทำให้เหนื่อยมากขึ้นแล้วยังทำให้จิตใจเบื่อหน่ายต่อการฝึกอีกทอดหนึ่งพึงระลึกเสมอว่า การฝึกจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อร่างกายและจิตใจสมบูรณ์เมื่อเหนื่อยควรหยุดพัก

ลักษณะนิสัยที่ดีในการฝึก

  • การฝึกที่ดีต้องคำนึงถึงคุณภาพของการฝึกเป็นสำคัญ ระยะเวลาที่ใช้ฝึกควรขึ้นอยู่กับสมาธิใช้เวลาสั้น แต่มีสมาธิฝึกย่อมดีกว่าใช้เวลาอันยาวนาน แต่ไม่มีสมาธิ
  • ฝึกด้วยอัตราจังหวะช้า ถือเป็นหัวใจของการฝึก เพราะการฝึกช้า มีโอกาสแก้ไขข้อบกพร่องสามารถฟังเสียงที่เป่าได้ชัดแม่นยำและสามารถสร้างสมาธิในการฝึกได้ เมื่อฝึกได้ถูกต้องแม่นยำแล้วจึงค่อย เปลี่ยนอัตราจังหวะให้เร็วขึ้น แต่ไม่เร็วจนเกินความสามารถที่จะควบคุมได้
  • ฝึกจุดอ่อน วลีที่ยาก กระสวนจังหวะที่เป่าไม่ถูก การฝึกเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องให้ถูกต้องยิ่งขึ้น ไม่ควรเสียเวลาในสิ่งที่เป่าได้อยู่แล้ว ควรสนใจแก้ไขสิ่งที่ทำไม่ถูกหรือเป่าไม่ได้ ควรจริงจังต่อข้อผิดพลาดโดยใช้เวลาพินิจพิจารณาว่า ทำไมถึงเป่าผิด แล้วจะแก้ไขอย่างไร อย่าฝึกอย่างผิด จนเคยชิดต่อความผิดนั้นแล้ว เข้าใจเอาว่าความผิดคือความถูกต้อง
  • ใช้เครื่องเคาะจังหวะและเครื่องตั้งเสียงในการฝึก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเครื่องเคาะจังหวะควบคู่กับการฝึกตลอดเวลา เพื่อสร้างความคงที่แม่นยำของจังหวะ ไม่ควรเดาจังหวะด้วยถือว่ารู้แล้ว เพราะจะเป็นสาเหตุของจังหวะไม่คงที่เร็วบ้างช้าบ้างโดยไม่รู้ตัว และในที่สุดจะล้มเหลวต่อการฝึก นอกจากนี้แล้วควรมีเครื่องตั้งเสียงอย่าเพิ่มเชื่อหูตัวเองเกินไป ควรฝึกตั้งเสียงให้เคยชินกับเสียงที่ถูกต้องก่อน
  • กระจก ทุกครั้งที่ฝึกควรมีกระจก เพราะกระจกคือครูที่จะบอกให้เราทราบว่าการวางปาก หรือท่าทางการจับแซกโซโฟนถูกต้องหรือไม่
  • มีทัศนคติที่ดีต่อการฝึก นอกจากสร้างสมาธิในการฝึกแล้วควรสร้างทัศนคติที่ดีต่อการฝึก ฝึกเพื่อดนตรี ไม่ควรฝึกเพราะถูกบังคับ หรือฝึกดนตรีเพื่อสร้างฐานทางสังคม
  • บันทึกเทปทุกครั้งที่ฝึกเพื่อฟัง และแก้ไขข้อบกพร่องในการฝึกครั้งต่อไป
  • ฝึกความจำโดยฝึกวลีเพลงสั้น 10 เที่ยว (ดูโน้ต) แล้วอีก 10 เที่ยว โดยอาศัยความจำเป่า อีก 10 เที่ยว โดยดูโน้ตอีกครั้งหนึ่ง

ฝึกอะไร

     การฝึกทุกครั้งควรจัดเป็นตารางว่า ฝึกอะไรบ้าง นานเท่าใด ไม่ควรฝึกอย่างหนึ่งอย่างใดจนเบื่อต่อการฝึก

ตัวอย่างการแบ่งเวลาในการฝึกระยะ 2 ชั่วโมง (เวลามากน้อยให้เปลี่ยนไปตามอัตราส่วน)

  • เป่าเสียงยาว (20 นาที) เพื่อ  ฝึกสำเนียง
               ฝึกเสียงระรัว
               ฝึกความดังเบาของเสียง
               ฝึกการวางปาก
  •  ฝึกบันไดเสียง (20 นาที)
               บันไดเสียงตั้งแต่ตัวต่ำสุดถึงสูงสุด
               เป่าคู่ 3 ในบันไดเสียง
               เป่าขั้นคู่ ในคอร์ด
               เป่าโดยเปลี่ยนเครื่องหมาย การใช้ลม การใช้ลิ้น
               ควรเปลี่ยนบันไดเสียงทุกครั้งที่เป่า
  • แบบฝึกหัดหรือบทฝึกที่อยู่ในบันไดเสียงเดียวกัน (30 นาที)
  • พัก (5 นาที)
  • ฝึกบทคีตวรรณกรรมสำหรับการบรรเลงเดี่ยว (30 นาที)
  • ฝึกจักษุสัมผัส (Sight Reading) (15 นาที) โดยใช้บทฝึกอะไรก็ได้ที่ไม่เคยผ่านสายตามาก่อน เพื่อฝึกสายตาในการสัมผัสกับโน้ตที่ไม่เคยอ่านมาก่อนโดยเน้นกระสวนจังหวะเป็นหลัก

       เตือนความจำ  ก่อนที่จะลงมือฝึกซ้อมอย่าลืมเอาลิ้นปี่แช่น้ำ หรืออมไว้ในปาก เพื่อที่จะให้ลิ้นปี่อมน้ำคงตัวก่อนที่จะเป่าประมาณ 3 5 นาที ส่วนการเตรียมเครื่องมือควรปฏิบัติดังนี้

  • เอาสายคล้องคอแซกโซโฟนคล้องคอ
  • เอากำพวดต่อติดกับคอแซกโซโฟน
  • เอาคอแซกโซโฟนต่อติดกับลำตัว ขันสกรูที่ข้อต่อไม่ให้หลวมหรือแน่นจนเกินไป
  • เอาแซกโซโฟนคล้องกบสายคล้องคอ
  • เอาลิ้นปี่ที่แช่น้ำไว้แล้วประกอบกับหน้าประกบ โดยให้ใช้ปลายลิ้นปี่เสมอกับปลายปากกำพวด ใช้หัวแม่มือข้างใดข้างหนึ่งกดไว้ แล้วใช้มืออีกข้างสวมข้อรัดลิ้นปี่ ขันสกรูรัดให้พอดี ไม่หลวมหรือไม่แน่นจนเกินไป
  • ปรับระดับสายคล้องคอให้พอดีในการเป่า แต่ไม่ปรับระดับโดยก้มหรือเงยหน้าให้ดูรูปท่าทางในการเป่าประกอบ

ตัวอย่างการฝึกในระยะเวลาสองชั่วโมง

  • เป่าเสียงยาวใช้เวลาประมาณ 20 นาที ในการฝึกแต่ละครั้งควรเปลี่ยนบันไดเสียงสำหรับตัวอย่างนั้นจะใช้บันไดเสียง G เมเจอร์
  • ฝึกเป่าบันไดเสียงใช้เวลาประมาณ 20 นาที
  • เป่าบทฝึกบันไดเสียง G เมเจอร์
  • พักประมาณ 5 นาที
  •  ฝึกบทคีตวรรณกรรมในบันไดเสียง G เมเจอร์

ไม่มีความคิดเห็น: