11 ธันวาคม 2551

10: การหายใจในการเป่า

การหายใจในการเป่าแซกโซโฟน

      การหายใจปกติของมนุษย์ เป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่ใช้ลมหายใจในปริมาณไม่มากนัก เพราะร่างกายใช้เพียงปอดเท่านั้น แต่การใช้ลมหายใจสำหรับเครื่องเป่าจำเป็นจะต้องใช้อวัยวะส่วนอื่น เช่น กะบังลม และท้องน้อย ลองสังเกตว่าเด็กเกิดใหม่ เวลาเด็กร้องไห้ หรือเด็กนอนหลับจะสังเกตเห็นท้องของเด็กเคลื่อนขึ้นลงตามลมหายใจแสดงว่ากะบังลมทำงานเต็มที่ในการหายใจ หรือสังเกตจากคนที่นอนหลับในท่านอนหงาย หน้าท้องจะกระเพื่อมขึ้นลงตามลมหายใจ เนื่องจากร่างกายต้องการลมมากขึ้น และปอดไม่สามารถรับไหว กะบังลมจึงต้องทำงาน เช่นเดียวกันกับการเป่าเครื่องดนตรี การร้องเพลงจำเป็นจะต้องใช้ลมมากกว่าปกติ ความจำเป็นที่จะเรียนรู้การใช้กะบังลม และควบคุมการใช้ลมจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

 การหายใจ

     การหายใจที่ถูกต้องก็จะช่วยให้การเป่าดีขึ้น การวางปากให้ถูกต้องเป็นธรรมชาติ สามารถคุมสำเนียงและประโยคของเพลงได้สมบูรณ์ และที่สำคัญก็คืออวัยวะที่ใช้ในการหายใจ ได้ถูกใช้ตามธรรมชาติ ซึ่งขึ้นอยู่กับกระบวนการหายใจเข้าและหายใจออก

การหายใจเข้า

         การหายใจเข้าที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะนั่งหรือยืนควรอยู่ในลักษณะ อกผายไหล่ผึ่ง (แต่ไม่ยกไหล่) อย่างธรรมชาติคือ ไม่เกร็ง อ้าปากโดยดึงขากรรไกรล่างลงแล้วเปิดหลอดลมให้กว้างออกเหมือนอาการหาว แล้วสูดลมเข้าสู่ทางปากจนเต็มท้องน้อย กะบังลม ปอด และหน้าอก การหายใจเข้าอาจจะแบ่งเป็น 3 ระยะ

  • การหายใจระยะที่ 1         โดยเพิ่มลมบริเวณกะบังลมส่วนล่างอาจจะใช้มือข้างใดข้างหนึ่ง แตะบริเวณหน้าท้องโดยให้นิ้วก้อยอยู่บริเวณสะดือ หรือบริเวณซี่โครงซี่สุดท้าย เมื่อหายใจเข้าจะรู้สึกว่าท้องป่องออกเล็กน้อย
  • การหายใจระยะที่ 2       โดยเพิ่มลมจากระยะที่ 1 ลมจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นโดยเฉพาะบริเวณกะบังลมส่วนบน เอามืออีกข้างหนึ่งจับบริเวณซี่โครงใต้รักแร้ เมื่อหายใจเข้าระยะที่ 2 จะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อบริเวณนั้นขยายออกเล็กน้อย
  • การหายใจเข้าระยะที่ 3         โดยเพิ่มลมให้เต็มปอดจะรู้สึกว่าหน้าอกยกขึ้นเล็กน้อย

 การทำงานของอวัยวะเมื่อหายใจเข้า

         ระยะที่หายใจเข้าจะรู้สึกว่ากะบังลม ปอด หน้าอกขยายออก

การเป่าลมออก

         การหายใจออกในชีวิตประจำวันนั้นเป็นเรื่องง่าย เพราะเราไม่ต้องควบคุม แต่การเป่าลมออกสำหรับเครื่องเป่า ต้องมีการควบคุมลมให้ออกอย่างสม่ำเสมอ หรือตามความต้องการ ขณะที่ปล่อยลมออก กะบังลมและกล้ามเนื้อส่วนล่างจะดันให้ลมออกมาทางปาก สังเกตจากรูป

ลักษณะของลมที่ใช้เป่าแซกโซโฟน

         โดยทั่วไปแล้วลักษณะของลมที่ใช้เป่าแซกโซโฟน เป็นเรื่องที่ถูกมองข้าม อย่างไรก็ตาม ตัวของนักแซกโซโฟนสมควรอย่างยิ่งที่จะรู้ว่า ลมที่ตนเป่าแซกโซโฟนมีลักษณะอย่างไร และสามารถทำให้เสียงที่เป่าออกมามีคุณภาพต่างกัน

  ลมที่เป่าออกมาจากปากสู่แซกโซโฟน แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ

  • ลมอุ่น เป็นลมที่เป่าออกมามีความอุ่น อย่างเช่น ตอนหาวนอนหรือลักษณะการถอนหายใจโดยอ้าปากให้กว้าง ลมอุ่นเกิดจากการเปิดหลอดลมให้กว้าง ลิ้นส่วนหลังอยู่ในลักษณะสูง ช่องปากขยายกว้าง กระแสลมที่เป่าจะไหลเอื่อย หรือการเป่าจูโจมอย่างแรงและเร็วลมที่ออกมาจะอุ่น เหมาะกับการเป่าเสียงที่ต้องการจู่โจมแรงและเร็ว เช่น เสียงที่ใช้นิ้วผี เป็นต้น
  • ลมเย็น เป็นลมที่เป่าออกมามีความเย็น เช่น การผิวปาก กระแสลมจะมีความเร็วแต่ง่ายแก่การควบคุม การที่จะเป่าให้แซกโซโฟนมีเสียงนุ่มราบรื่น ควรใช้ลมเย็นในการเป่า อย่างไรก็ตามนักแซกโซโฟนจะใช้ลมทั้งสองลักษณะในการเป่า ขึ้นอยู่กับเสียงที่ต้องการ

ข้อสังเกตความไม่ถูกต้องในขณะเป่า

  • หายใจทางจมูก
  • หายใจบ่อยขณะที่เป่าโดยไม่จำเป็น
  • หายใจมีเสียงดัง
  • มีลมไม่เพียงพอ
  • ยกอก ยกไหล่ หรือเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอขณะหายใจเข้า
  • ไม่สามารถควบคุมเสียงแซกโซโฟนให้อยู่ในระดับเดียวกัน

ข้อสังเกตความถูกต้องของการหายใจขณะเป่า

  • เปิดหลอดลมและหายใจทางปาก
  • มีลมพอที่จะเป่าให้หมดประโยคเพลง
  • หายใจเข้าอย่างรวดเร็ว โดยได้ปริมาตรของลมที่ต้องการ
  • หายใจได้เต็มปอดทุกครั้ง
  • ไม่เคลื่อนไหวอวัยวะส่วนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการหายใจ เช่น ไหล่ เป็นต้น
  • สามารถควบคุมให้ออกมาอย่างสม่ำเสมอ

ไม่มีความคิดเห็น: