- ส่วนประกอบของเครื่องดนตรี
- การหยิบจับเครื่องดนตรี
- ท่าทาง
- การดูแลรักษา
- การหายใจ
- การวางปาก
- สำเนียง
- คุณภาพของเสียง
- ศิลปะของการเป่า
- การถ่ายทอดอารมณ์
- บทฝึกและวรรณกรรมดนตรี
- ปรัชญาของนักดนตรี
- การแสดง
อ.กำจร กาญจนถาวร โปรแกรมวิชาดนตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา: 2008
25 ธันวาคม 2551
คำอธิบายรายวิชาปฏิบัติเครื่องลมไม้ 1
11 ธันวาคม 2551
20: ปรัชญาการแสดง
ปรัชญาการแสดง
ในบทนี้จะกล่าวถึงการแสดงดนตรีในที่สาธารณะ ทั้งการบรรเลงเดี่ยวและบรรเลงเป็นวง
1. การแสดงออกทางดนตรี การแสดงออกทางดนตรีถือเป็นพรสวรรค์อย่างหนึ่ง ซึ่งออกมาจากจิตและวิญญาณ ถึงกระนั้นก็ตาม การแสดงออกทางดนตรียังรวมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ อีกด้วย เช่น คุณภาพของเสียงที่เป่าออกมา เครื่องหมายทางดนตรี การจากไปของเสียงที่เป่า เสียงระรัว วลี และประโยคเพลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการฝึกนอกเหนือจากพรสวรรค์
2. ปรัชญาการแสดง เป็นเรื่องที่จะต้องฝึกและทำความเข้าใจ โดยมีข้อที่ควรคำนึงถึงดังนี้
- ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะขอโทษผู้ฟังจากข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น นักแสดงต้องใจกล้าพอที่จะแสดง โดยไม่คำนึงถึงข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น
- เสียงทุกเสียงที่เป่าออกมา ต้องมีความหมายทางดนตรีและมีคุณภาพแม้แต่การตั้งเสียง
- คิดในทางที่ดีในขณะบรรเลง หลีกเลี่ยงความคิดในทางลบ เช่น ความผิดพลาดอาจจะเกิดขึ้นและในที่สุดก็เกิดขึ้น
- พยายามเข้าใจหลักธรรมชาติที่ว่า ไม่มีใครจะชอบทุกอย่างที่บรรเลงถือเสียว่าเมื่อไม่ชอบมันไม่ใช่ความผิดของเรา แต่ใช่ว่าถือโอกาสไม่ซ้อมเสียเลย ซ้อมให้ดีที่สุดและบรรเลงให้สุดความสามารถ
- ความมั่นใจในการบรรเลงมาจากการซ้อมและการเตรียมตัวที่ดี
- เป้าหมายของการบรรเลงควรดีกว่าการบรรเลงคราวที่แล้ว
- ไม่ควรทำหน้ายุ่งเมื่อเป่าผิด ให้เป่าผ่านความผิดที่เกิดขึ้น
- จุดที่ ๆ จะต้องใช้ความสามารถพิเศษหรือจุดที่ยาก ควรคำนึงถึงโน้ตก่อนที่จะนึกถึงการถ่ายทอดอารมณ์เพลง อย่างไรก็ตามควรที่จะฝึกให้ชำนาญจนสามารถถ่ายทอดอารมณ์เพลงได้
3. ถ้าเป็นไปได้ควรบันทึกในการบรรเลงเพื่อที่จะได้ฟังเปรียบเทียบว่าสิ่งที่คิดไว้กับเทปแตกต่างกันอย่างไร
4. ท่าทางในการแสดง น้ำหนักควรอยู่บนขาทั้งสองข้าง
5. การโค้งให้เกียรติกระทำอย่างไม่เคอะเขินบนเวทีผู้แสดงย่อมเป็นศิลปิน
6. ความคล่องตัว และความจัดเจนต่อการแสดงย่อมทำให้มีสิ่งที่จะต้องระวังมากขึ้น แต่ถ้าจะคิดในแง่ดีแล้วไม่มีใครที่จะแสดงทุกอย่างสมบูรณ์ และการแสดงเริ่มเมื่อก้าวแรกที่คุณขึ้นสู่เวที
อย่างไรก็ตามที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงข้อสังเกตโดยทั่วไปเท่ารั้น ไม่มีอะไรดีไปกว่าประสบการณ์ตรง นักเรียนดนตรีต้องกล้าแสดงและพร้อมเสมอที่จะแสดง ความไม่พร้อมที่จะแสดงเป็นการพลาดโอกาสอันยิ่งใหญ่ในฐานะศิลปิน
19: การฝึกแซกโซโฟน
การฝึกแซกโซโฟน
เมื่อพูดถึงการฝึกอาจพูดได้ว่าการฝึกเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจน้อยมากในวงการนักดนตรีของไทยเรา โดยแต่ละคนอาจจะมีเหตุผลต่าง ๆ กัน
เหตุผลที่กล่าวมานั้น เป็นการสร้างลักษณะนิสัยที่ไม่ดีต่อการฝึก ขาดความรู้ความเข้าใจในตัวนักดนตรี เพราะที่จริงแล้วความเป็นเอกมาจากการฝึก นักแซกโซโฟนเอกของโลกยังต้องฝึก ความเก่งของนักแซกโซโฟนเอกเหล่านั้นมาจากการฝึกที่ถูกต้อง
ปรัชญาของการฝึก “ฝึกทำให้ทุกอย่างสมบูรณ์ เพราะการฝึกที่ผิดเป็นเหตุให้ปฏิบัติผิด”
การฝึกคือ การพัฒนาไปสู่ความเก่ง พัฒนาทักษะ กล้ามเนื้อ และพรสวรรค์ทางดนตรีให้เจริญไปในทางที่ถูกต้อง
การฝึกและการบรรเลงมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน การบรรเลงนั้นเป็นการแสดงในที่สาธารณชน ข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นไม่อาจจะกลับไปแก้ไขได้ต้องปล่อยให้ผ่านไป และที่สำคัญก็คือการบรรเลงเป็นการอวดวิทยายุทธ์ที่ได้ฝึกมา อวดความสามารถในการบรรเลงที่จะถ่ายทอดอารมณ์ทางดนตรีไปสู่ผู้ฟัง
ส่วนจุดประสงค์ของการฝึกนั้นเป็นการเรียนรู้ทักษะการควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเป่าแซกโซโฟน ไม่ว่าจะเป็นริมฝีปาก ระบบการหายใจ นิ้ว สมาธิ ฝึกระบบประสาทให้ตอบสนองต่อดนตรี ฝึกหูให้เคยชินกับเสียงที่ถูกต้อง แก้ไขข้อบกพร่องให้สมบูรณ์
ฝึกที่ไหน
สถานที่ฝึก ควรเป็นสถานที่ที่สงบสามารถสร้างสมาธิในการฝึกโดยไม่มีสิ่งใดมารบกวนหรือไม่รบกวนบุคคลอื่น ห้องฝึกควรเป็นห้องส่วนบุคคล อากาศถ่ายเทได้สะดวก อุณหภูมิเหมาะสมประมาณ 75๐F ในห้องควรจะมีกระจกไว้สำหรับตรวจสอบในการวางปากและท่าทางในการเป่า ถ้าเป็นไปได้ควรมีเปียโนสำหรับการบรรเลงประกอบ
ฝึกเมื่อไร
การฝึกควรปฏิบัติให้เป็นกิจวัตรประจำวัน นักเรียนแซกโซโฟนควรมีเวลาฝึกอย่างน้อยวันละ 2 ชั่วโมง นักแซกโซโฟนอาชีพควรฝึกอย่างน้อยสม่ำเสมอ ไม่ควรที่จะฝึกวันเดียว 10 ชั่วโมง แล้วหยุดไป 10 วัน ในขณะฝึกเมื่อรู้สึกเหนื่อยควรจะหยุดพัก เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะฝืน เมื่อร่างกายอ่อนเพลียไม่สามารถควบคุมได้ทำให้การเรียนรู้ได้ผลน้อย นอกจากจะทำให้เหนื่อยมากขึ้นแล้วยังทำให้จิตใจเบื่อหน่ายต่อการฝึกอีกทอดหนึ่งพึงระลึกเสมอว่า การฝึกจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อร่างกายและจิตใจสมบูรณ์เมื่อเหนื่อยควรหยุดพัก
ลักษณะนิสัยที่ดีในการฝึก
- การฝึกที่ดีต้องคำนึงถึงคุณภาพของการฝึกเป็นสำคัญ ระยะเวลาที่ใช้ฝึกควรขึ้นอยู่กับสมาธิใช้เวลาสั้น แต่มีสมาธิฝึกย่อมดีกว่าใช้เวลาอันยาวนาน แต่ไม่มีสมาธิ
- ฝึกด้วยอัตราจังหวะช้า ถือเป็นหัวใจของการฝึก เพราะการฝึกช้า ๆ มีโอกาสแก้ไขข้อบกพร่องสามารถฟังเสียงที่เป่าได้ชัดแม่นยำและสามารถสร้างสมาธิในการฝึกได้ เมื่อฝึกได้ถูกต้องแม่นยำแล้วจึงค่อย ๆ เปลี่ยนอัตราจังหวะให้เร็วขึ้น แต่ไม่เร็วจนเกินความสามารถที่จะควบคุมได้
- ฝึกจุดอ่อน วลีที่ยาก กระสวนจังหวะที่เป่าไม่ถูก การฝึกเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องให้ถูกต้องยิ่งขึ้น ไม่ควรเสียเวลาในสิ่งที่เป่าได้อยู่แล้ว ควรสนใจแก้ไขสิ่งที่ทำไม่ถูกหรือเป่าไม่ได้ ควรจริงจังต่อข้อผิดพลาดโดยใช้เวลาพินิจพิจารณาว่า ทำไมถึงเป่าผิด แล้วจะแก้ไขอย่างไร อย่าฝึกอย่างผิด ๆ จนเคยชิดต่อความผิดนั้นแล้ว เข้าใจเอาว่าความผิดคือความถูกต้อง
- ใช้เครื่องเคาะจังหวะและเครื่องตั้งเสียงในการฝึก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเครื่องเคาะจังหวะควบคู่กับการฝึกตลอดเวลา เพื่อสร้างความคงที่แม่นยำของจังหวะ ไม่ควรเดาจังหวะด้วยถือว่ารู้แล้ว เพราะจะเป็นสาเหตุของจังหวะไม่คงที่เร็วบ้างช้าบ้างโดยไม่รู้ตัว และในที่สุดจะล้มเหลวต่อการฝึก นอกจากนี้แล้วควรมีเครื่องตั้งเสียงอย่าเพิ่มเชื่อหูตัวเองเกินไป ควรฝึกตั้งเสียงให้เคยชินกับเสียงที่ถูกต้องก่อน
- กระจก ทุกครั้งที่ฝึกควรมีกระจก เพราะกระจกคือครูที่จะบอกให้เราทราบว่าการวางปาก หรือท่าทางการจับแซกโซโฟนถูกต้องหรือไม่
- มีทัศนคติที่ดีต่อการฝึก นอกจากสร้างสมาธิในการฝึกแล้วควรสร้างทัศนคติที่ดีต่อการฝึก ฝึกเพื่อดนตรี ไม่ควรฝึกเพราะถูกบังคับ หรือฝึกดนตรีเพื่อสร้างฐานทางสังคม
- บันทึกเทปทุกครั้งที่ฝึกเพื่อฟัง และแก้ไขข้อบกพร่องในการฝึกครั้งต่อไป
- ฝึกความจำโดยฝึกวลีเพลงสั้น ๆ 10 เที่ยว (ดูโน้ต) แล้วอีก 10 เที่ยว โดยอาศัยความจำเป่า อีก 10 เที่ยว โดยดูโน้ตอีกครั้งหนึ่ง
ฝึกอะไร
การฝึกทุกครั้งควรจัดเป็นตารางว่า ฝึกอะไรบ้าง นานเท่าใด ไม่ควรฝึกอย่างหนึ่งอย่างใดจนเบื่อต่อการฝึก
ตัวอย่างการแบ่งเวลาในการฝึกระยะ 2 ชั่วโมง (เวลามากน้อยให้เปลี่ยนไปตามอัตราส่วน)
- เป่าเสียงยาว (20 นาที) เพื่อ ฝึกสำเนียง
ฝึกความดังเบาของเสียง
ฝึกการวางปาก
- ฝึกบันไดเสียง (20 นาที)
เป่าคู่ 3 ในบันไดเสียง
เป่าขั้นคู่ ในคอร์ด
เป่าโดยเปลี่ยนเครื่องหมาย การใช้ลม การใช้ลิ้น
ควรเปลี่ยนบันไดเสียงทุกครั้งที่เป่า
- แบบฝึกหัดหรือบทฝึกที่อยู่ในบันไดเสียงเดียวกัน (30 นาที)
- พัก (5 นาที)
- ฝึกบทคีตวรรณกรรมสำหรับการบรรเลงเดี่ยว (30 นาที)
- ฝึกจักษุสัมผัส (Sight Reading) (15 นาที) โดยใช้บทฝึกอะไรก็ได้ที่ไม่เคยผ่านสายตามาก่อน เพื่อฝึกสายตาในการสัมผัสกับโน้ตที่ไม่เคยอ่านมาก่อนโดยเน้นกระสวนจังหวะเป็นหลัก
เตือนความจำ ก่อนที่จะลงมือฝึกซ้อมอย่าลืมเอาลิ้นปี่แช่น้ำ หรืออมไว้ในปาก เพื่อที่จะให้ลิ้นปี่อมน้ำคงตัวก่อนที่จะเป่าประมาณ 3 – 5 นาที ส่วนการเตรียมเครื่องมือควรปฏิบัติดังนี้
- เอาสายคล้องคอแซกโซโฟนคล้องคอ
- เอากำพวดต่อติดกับคอแซกโซโฟน
- เอาคอแซกโซโฟนต่อติดกับลำตัว ขันสกรูที่ข้อต่อไม่ให้หลวมหรือแน่นจนเกินไป
- เอาแซกโซโฟนคล้องกบสายคล้องคอ
- เอาลิ้นปี่ที่แช่น้ำไว้แล้วประกอบกับหน้าประกบ โดยให้ใช้ปลายลิ้นปี่เสมอกับปลายปากกำพวด ใช้หัวแม่มือข้างใดข้างหนึ่งกดไว้ แล้วใช้มืออีกข้างสวมข้อรัดลิ้นปี่ ขันสกรูรัดให้พอดี ไม่หลวมหรือไม่แน่นจนเกินไป
- ปรับระดับสายคล้องคอให้พอดีในการเป่า แต่ไม่ปรับระดับโดยก้มหรือเงยหน้าให้ดูรูปท่าทางในการเป่าประกอบ
ตัวอย่างการฝึกในระยะเวลาสองชั่วโมง
- เป่าเสียงยาวใช้เวลาประมาณ 20 นาที ในการฝึกแต่ละครั้งควรเปลี่ยนบันไดเสียงสำหรับตัวอย่างนั้นจะใช้บันไดเสียง G เมเจอร์
- ฝึกเป่าบันไดเสียงใช้เวลาประมาณ 20 นาที
- เป่าบทฝึกบันไดเสียง G เมเจอร์
- พักประมาณ 5 นาที
- ฝึกบทคีตวรรณกรรมในบันไดเสียง G เมเจอร์
18: ลิ้นแซกโซโฟน
ลิ้นแซกโซโฟน
ลิ้นแซกโซโฟน หรือลิ้นปี่ มีความสำคัญมากพอสมควร เพราะลิ้นปี่เป็นต้นกำเนิดเสียงของแซกโซโฟน ลิ้นปี่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับเสียงทึบเสียงใส เสียงบาง เสียงมีอำนาจ และการใช้ลมมากหรือน้อย แต่การเป่าผิดตัวโน้ต ผิดจังหวะ และการผิดบันไดเสียงนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับลิ้นปี่
ลิ้นอ่อน ลิ้นแข็ง ลิ้นไม่เสมอ เป็นปัญหาที่นักแซกโซโฟนควรคำนึงถึงอย่างมาก ลิ้นที่ดีจะระรัวเสียงให้มีคุณภาพ ในทำนองเดียวกันลิ้นไม่ดีก็ย่อมระรัวเสียงที่ขาดคุณภาพ
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับลิ้นแซกโซโฟน
ลิ้นแซกโซโฟนทำขึ้นจากไม้ไผ่ชนิดหนึ่ง ซึ่งปลูกแถบตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศสรอบ ๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นิยมกันว่าไม้ไผ่เหล่านั้นสามารถทำลิ้นแซกโซโฟนได้ดีที่สุดและนิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน เชื่อกันว่าอากาศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นอากาศที่เหมาะสำหรับปลูกไม้ไผ่เพื่อทำลิ้นปี่ นอกจากบริเวณนี้แล้ว บริเวณอื่น ๆ ที่นิยมปลูกไม้ไผ่เพื่อทำลิ้นปี่ เช่น ประเทศเม็กซิโก, รัฐแคลิฟอร์เนีย ในประเทศสหรัฐอเมริกา, ประเทศชิลี, ประเทศอิตาลี, ประเทศยูโกสลาเวีย, ประเทศกรีก และประเทศสหภาพโซเวียต
ไม้ไผ่ที่จะตัดทำลิ้นปี่ควรจะอายุไม่อ่อนหรือไม่แก่จนเกินไป อายุอย่างน้อยประมาณ 2 ปี แต่ไม่ควรเกิน 3 ปี หลังจากได้ตัดไม้ไผ่เหล่านั้นมาตากแดดประมาณ 10 วัน เพื่อทำให้ผิวของไม้ไผ่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง หลังจากนั้นเขาจุเก็บไม้ไผ่ไว้ในโรงเก็บอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้ไม่ไผ่แห้งสนิทแล้วจึงนำมาทำเป็นลิ้นปี่ตามต้องการ
ลักษณะของลิ้นแซกโซโฟน
ลิ้นแซกโซโฟนที่ขายตามท้องตลาดทั่วไปมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
- ลักษณะของลิ้นที่มีเนินกลางเป็นรูปตัววี (V) นิยมเรียกกันว่า แบบเยอรมัน
- ลักษณะของลิ้นที่มีเนินกลางเป็นรูปตัวยู (U) นิยมเรียกกันว่า แบบฝรั่งเศส ลิ้นประเภทนี้ได้รับความนิยมมากกว่าประเภทแรก
ลักษณะของลิ้นที่มีเนินกลางเป็นรูปตัวยู (U) ได้รับความนิยมกันมากกว่าลิ้นที่มีเนินกลางเป็นรูปตัววี (V) ในปัจจุบัน
การเลือกลิ้นปี่
ในการเลือกลิ้นเพื่อให้ได้ลิ้นที่ดี อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะรู้จักส่วนประกอบของลิ้นเพื่อช่วยในการเลือก
ส่วนประกอบของลิ้นปี่
ถ้ามีโอกาสหรือมีเงินพอที่จะซื้อเป็นกล่องได้ ก็ควรจะเลือกยี่ห้อลิ้นปี่ที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ว่าใน 1 กล่องมีลิ้นปี่ที่มีคุณภาพเกินครึ่ง
ถ้าจะต้องซื้อปลีกก็ควรจะซื้อจากร้านที่เปิดโอกาสให้เลือกลิ้นปี่ได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการเลือกลิ้นปี่ต้องอาศัยสายตาและความรู้เป็นหลัก ทางร้านคงไม่ยอมให้เลือกลิ้นปี่โดยการลดลองเป่าเป็นแน่
ก่อนที่จะซื้อลิ้นปี่ก็ควรจะรู้ว่ากำพวดที่ใช้อยู่เหมาะสมกับลิ้นปี่เบอร์อะไร
ความสัมพันธ์ระหว่างความกว้างของปากกำพวดกับความอ่อนแข็งของลิ้นปี่
ลิ้นอ่อนจะมีความระรัวของปลายลิ้นมากเหมาะสำหรับกำพวดที่ปากเปิดกว้าง ส่วนลิ้นแข็งจะมีความระรัวของปลายลิ้นน้อยเหมาะสำหรับกำพวดที่ปากแคบ
ข้อเสนอแนะในการเลือกลิ้น
- ท่อนบนของลิ้นควรจะยาวกว่าท่อนล่าง
- สีของท่อนล่างควรจะเป็นสีเหลืองทอง เพราะแสดงว้าไม้ไผ่ไม่อ่อนและไม่แก่เกินไป ไม่ควรเลือกลิ้นปี่ที่มีสีน้ำตาล ส่วนท่อนบนควรเป็นสีขาวหรือสีครีม
- เส้นลายไม้ไผ่ท่อนบนของลิ้นควรเป็นเส้นตรง และมีความขนานตลอดแนว ไม่ควรเลือกลิ้นที่มีลายเส้นหนักด้านใดด้านหนึ่ง เพราะเป็นเหตุให้ความหนาบางของลิ้นไม่เท่ากัน คลื่นระรัวของลิ้นแต่ละข้างย่อมไม่เท่ากันด้วย
- ส่องลิ้นกับแสงสว่างเพื่อดูรอยโค้งท่อนปลายลิ้นว่าเป็นรูปตัวยู (U) หรือรูปตัววี (V)
การปรับลิ้นปี่
ลิ้นอ่อน
- ต้องวางปากอย่างหลวมถึงจะเป่าออกเสียงได้
- ใช้ลมจำนวนน้อยในการเป่า
- ไม่สามารถเป่าเสียงสูงได้
- เสียงที่ออกมาจะได้ยินการระรัวของลิ้นปี่ผสมกับเสียงแซกโซโฟนรวมอยู่ด้วย
การปรับลิ้นอ่อน ทางที่ดีที่สุดคือ การตัดปลายลิ้นปี่โดยใช้เครื่องตัด การตัดลิ้นปี่นั้นควรตัดด้วยความระมัดระวัง พยายามให้ลิ้นอยู่ตรงกลางของเครื่องตัดพอดี แต่ละครั้งที่ตัดควรตัดประมาณขนาดของเส้นปากกาเป็นอย่างมาก เมื่อตัดเสร็จควรใช้กระดาษทรายที่ละเอียดที่สุด ฝนรอยตัดให้เรียบ เพราะรอยตัดที่ไม่เรียบอาจเป็นอันตรายบาดริมฝีปากหรือบาดลิ้นได้ง่าย
เครื่องตัดลิ้นปี่
ลิ้นแข็ง
ลักษณะของลิ้นแข็ง
- ต้องรัดกล้ามเนื้อบริเวณริมฝีปากแน่นจึงจะเป่าออก
- ใช้ลมจำนวนมากในการเป่า
- เป่าออกเสียงยากโดยเฉพาะเสียงต่ำ และยากต่อการควบคุมการเป่าเสียงเบา
- เสียงที่ออกมาเหมือนมีเสียงลมผสมอยู่ และสำเนียงจะเพี้ยนสูง
การปรับลิ้นแข็งให้อ่อนลงนั้นต้องใช้มีดคมหรือกระดาษทรายละเอียดขูดด้วยความประณีตและสม่ำเสมอ การขูดลิ้นปี่ต้องขูดออกทีละนิดแล้วตรวจความสมดุลของลิ้นด้วยการส่องกับแสงสว่าง โดยให้ลิ้นปี่อยู่ระหว่างสายตากับแสงสว่าง ความหนาบางทั้งสองข้างของลิ้นต้องเท่ากัน หลังจากขูดออกทุกครั้งควรทดลองเป่าดูเพื่อไม่ให้ขูดจนลิ้นอ่อนเกินไป
การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับลิ้นแข็งในกรณีที่ไม่มีโอกาสหรือเวลาสำหรับขูดลิ้นปี่ อาจจะแก้ปัญหาชั่วคราวคือ ปรับให้ปลายลิ้นปี่ต่ำกว่าระดับของปลายปากกำพวด
17: กำพวดแซกโซโฟน
กำพวดแซกโซโฟน
ด้วยเหตุผลหลาย ๆ ประการที่ทำให้นักแซกโซโฟนเลือกกำพวดที่แตกต่างกัน เช่น ลักษณะของกล้ามเนื้อบริเวณปาก โครงสร้างของกระดูกคาง ความหนาบางของริมฝีปาก นอกจากนี้แล้วยังคำนึงถึงว่า ประเภทของเพลงที่เป่าเป็นอย่างไร เป่าเดี่ยว เป่าประสาน เป่าเพลงคลาสสิก หรือเป่าเพลงแจ๊ส สิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในการเลือกใช้กำพวดให้เหมาะสมประกอบกับความพอใจของผู้เป่าว่าชอบเสียงอย่างไรด้วย
วัสดุที่ใช้ทำกำพวด
กำพวดที่ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ส่วนมากจะเอาแก่นของไม้เนื้อแข็งมาทำ ถ้าได้รับการรักษาอย่างดีก็สามารถใช้ได้หลายปี แต่มีข้อเสียคือ แตกได้ง่าย
กำพวดที่ทำด้วยเหล็ก กำพวดเหล็กมักฒีขนาดเล็กกว่ากำพวดที่ทำด้วยวัสดุอย่างอื่น เหมาะสำหรับเทนเนอร์ หรือบาริโทน หรือคนที่ชอบขนาดของกำพวดเล็ก
กำพวดที่ทำด้วยแก้วเป็นที่นิยมใช้โดยทั่วไป เพราะราคาถูกไม่แตกเหมือนเมื่อก่อน
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับกำพวด
- ส่วนประกอบของกำพวด
- ปากกำพวด
หน้ากลาง ปลายกำพวดกับลิ้นปี่จะห่างกันปานกลาง ลิ้นปี่ที่ใช้ควรเป็นลิ้นที่มีความอ่อน – แข็งปานกลาง เสียงที่ออกมาจะไม่ใสและไม่ทึบจนเกินไปเหมาะสำหรับเป่าเพลงคลาสสิก
หน้ายาว ปลายปากกำพวดกับปลายลิ้นปี่จะแคบ ลิ้นปี่ที่ใช้ควรเป็นลิ้นที่แข็ง เพราะมีระยะแคบในการระรัวเสียงที่ออกมาจะทึบหนักแน่น
สำหรับผู้ฝึกใหม่ขอแนะนำให้ใช้กำพวดขนาดกลางก่อน
สิ่งที่ควรพิจารณา
ผู้เริ่มเรียน และผู้ที่นิยมเป่าเพลงคลาสสิกควรใช้กำพวดแคบปานกลาง สำหรับผู้ที่นิยมเพลงแจ็สควรใช้กำพวดที่กว้างมากขึ้นกว่าปานกลางเล็กน้อย
16: ศิลปะการเป่าแซกโซโฟน
ศิลปะการเป่าแซกโซโฟน
เมื่อพูดถึงศิลปะการเป่าแซกโซโฟน แน่นอนที่สุดผู้เป่าต้องได้เรียนรู้ขั้นพื้นฐานอย่างดีแล้วซึ่งหมายรวมถึง การหายใจ การวางปาก ในบทต้น ๆ ส่วนในบทนี้จะกล่าวถึงศิลปะที่สูงขึ้นในการเป่าแซกโซโฟน
ทำอย่างไรจึงจะเป่าเก่ง ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาไปสู่ความเก่งที่นักแซกโซโฟนทุกคนปรารถนา
การเป่าเก่งหรือจะพัฒนาไปสู่ความเก่งประกอบด้วยปัจจัย ดังนี้
- การวางนิ้ว
นิ้วทุกนิ้ววางอยู่บนแป้นนิ้วไม่เกร็ง การกดแป้นนิ้วในขณะที่เป่าเป็นไปตามธรรมชาติคือ ไม่กระแทก เมื่อปล่อยแป้นนิ้ว นิ้วจะไม่กระเด้งห่างออกจากแป้นนิ้วพยายามให้นิ้วติดอยู่กับแป้นนิ้วตลอดเวลา
- การฝึกความเร็วของนิ้ว
ระยะเวลาของตัวหยุด เมื่อจะเป่าให้นึกถึงเสียงที่จะเป่าก่อน ในขณะเดียวกันให้เปลี่ยนนิ้วไปยังเสียงที่จะเป่า ฝึกในทำนองเดียวกันนี้ตลอดทั้งบทฝึกในทุกบันไดเสียง พยายามฝึกอย่างช้า ๆ เพื่อสร้างสมาธิของนิ้วให้อยู่กับแป้นนิ้ว
การพัฒนาความเร็วของนิ้ว ต้องฝึกอย่างสม่ำเสมอจนเป็นกิจวัตร สิ่งที่ควรระมัดระวังคือ ไม่ควรเป่าให้เร็วเกินความสามารถที่จะควบคุมจังหวะ สำเนียงและความชัดเจนของเสียงได้การฝึกผิด ๆ จนติดเป็นนิสัย เป็นปัญหาที่ยากต่อการแก้ไข การฝึกอย่างเร็วนั้นควรเป็นความเร็วที่สามารถควบคุมได้ ทั้งจังหวะ สำเนียง และความชัดเจนในกรณีที่ไม่สามารถจะเป่าตรงที่ยาก ๆ ได้นั้น ควรจะลดความเร็วลงมา อุปกรณ์ที่ช่วยได้อีกอย่างคือ ดินสอดำ สำหรับทำเครื่องหมายในโน้ตเพลง เพื่อเตือนความจำว่าตรงที่เราผิดเราได้แก้ไขให้ดีขึ้นแล้วหรือยัง
แบบฝึกหัดการฝึกความเร็วของนิ้ว
ฝึกทุกบันไดเสียง ทั้งเมเจอร์และไมเนอร์ โดยฝึกตั้งแต่ตัวโน้ตที่ต่ำที่สุดไปจนถึงโน้ตที่สูงที่สุด ในแต่ละบันไดเสียง
ฝึกเป่าบันไดเสียงคู่ 3 ในทุก ๆ บันไดเสียง ดังตัวอย่าง
ฝึกเป่าขั้นคู่เสียง ในแต่ละคอร์ดทุกบันไดเสียง
- นิ้วแทน
นักแซกโซโฟนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้จักนิ้วแทนทุกนิ้ว แล้วฝึกจนสามารถนำมาใช้ได้ทันที เมื่อเห็นวลีเพลงที่จำเป็นจะต้องใช้นิ้วแทนโดยที่ไม่ต้องเสียเวลาคิดว่าควรใช้นิ้วอย่างไร ฉะนั้นนิ้วแทนจึงเป็นเสมือนวิทยายุทธสำหรับนักแซกโซโฟน
ตัวอย่างวลีเพลงที่ใช้นิ้วแทน
F# นิ้วแทนควรจะใช้เมื่อวลีเพลงอยู่ในลักษณะบันไดเสียงโครมาติก คือ การไล่เสียงกันแบบครึ่งเสียง
B Flat นิ้วแทน B Flat นิ้วแทนมีให้เลือกใช้ได้ถึง 4 นิ้ว แต่ละนิ้วที่จะใช้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับวลีเพลง
- การใช้นิ้วลมและการใช้ลิ้น (Slur and Tonguing)
การใช้ลม
เป็นลักษณะของเสียงที่เป่าออกมา มีความติดต่อกันไม่ขาดระยะโดยใช้ลมเดียวกัน ตัวโน้ตที่เขียนจะมีเครื่องหมายการใช้ลมในลักษณะเส้นโค้งกำกับอยู่
ตัวโน้ตตัวแรกจะใช้ลิ้นเพียงตัวเดียว ส่วนตัวโน้ตที่ตามมาจะใช้ลมตลอดติดต่อกัน อาการของอวัยวะภายในปากจะอยู่กับที่ในขณะกระแสลมผ่านเข้าสู่กำพวด
การใช้ลิ้น
เป็นลักษณะของเสียงที่เป่าออกมาถูกแยกเสียงแต่ละเสียงออกจากกันโดยใช้ลิ้น ตัวโน้ตที่เขียนจะไม่มีเส้นโค้งกำกับอยู่
ถ้าต้องการให้เสียงมีช่องว่างระหว่างเสียงหรือมีเสียงสั้นมากยิ่งขึ้น ตัวโน้ตจะถูกประจุไว้ที่หัวเป็นเครื่องหมายแต่ค่าของตัวโน้ตยังคงเดิม
หมายเหตุ ตัวโน้ตทุกตัวถึงแม้จะมีเสียงสั้น แต่ยังมีสิทธิที่จะต้องเป่าอย่างมีคุณภาพ
อาการของลิ้นขณะเป่า
โดยกระดิกปลายลิ้นไปแตะด้านล่างของลิ้นแซกโซโฟน แล้วตวัดลิ้นกลับที่เดิม ในขณะเดียวกันกระแสลมที่เป่ายังพุ่งอยู่อย่างเดิมมิได้เปลี่ยนแปลง
การฝึกลิ้นเพื่อใช้ในการเป่า
ให้พูดคำว่า “ที” หรือ “ทา” อาการของลิ้นในขณะเป่าจะอยู่ในลักษณะเดียวกันเมื่อพูด “ดู” หรือ “ทู” ตั้งเครื่องเคาะจังหวะในอัตรา 60 เคาะต่อหนึ่งนาที
ข้อควรระวัง
พยายามฝึกด้วยอัตราจังหวะที่สามารถควบคุมได้ รวมทั้งค่าของตัวโน้ตทุกตัวต้องแน่ใจว่าเท่ากัน สำเนียงถูกต้อง การใช้นิ้วไม่เกร็งหรือไม่กระดกห่างจนเกินไป กระแสลมที่เป่ามีความสม่ำเสมอ
- เครื่องหมายและการถ่ายทอดความรู้สึกในเพลง
การบรรเลงดนตรีเป็นการถ่ายทอดภาษาของความรู้สึกที่มีต่อเพลง การที่จะถ่ายทอดอารมณ์หรือเข้าถึงอารมณ์ของเพลง ก็ต้องศึกษาองค์ประกอบของดนตรีเสียก่อน เช่น ตัวโน้ต แนวทำนอง แนวประสาน ลักษณะของเสียง เป็นต้น เมื่อเข้าใจองค์ประกอบแล้วถึงจะเข้าใจอารมณ์เพลงของตัวโน้ต เครื่องหมายต่าง ๆ ไม่ใช่ดนตรี สิ่งเหล่านี้เป็นแต่เพียงองค์ประกอบเท่านั้นที่จะเชื่อมโยงไปสู่ความเป็นดนตรี ความเป็นดนตรีจึงอยู่เหนือเครื่องหมายหรืออยู่เหนือตัวโน้ตนั่นเอง
ควรระลึกอยู่เสมอว่า ตัวโน้ตทุกตัวที่เป่าเป็นการเป่าดนตรี ซึ่งมีการถ่ายทอดทางอารมณ์ไม่ได้เป่าตัวโน้ต ความเป็นดนตรีของเสียงที่เป่าออกมา ต้องมีความหมายทางอารมณ์ ทำไมเสียงแตรรถไม่เป็นเสียงดนตรี ทำไมเสียงนกหวีดไม่เป็นเสียงดนตรี เพราะเสียงแตรรถ เสียงนกหวีดเป็นแต่เพียงเสียง ไม่ได้ถ่ายทอดอารมณ์ในแง่ดนตรี
- การจากไปของเสียงที่เป่า
การจากไปของเสียงที่เป่าหรือการหยุดเสียง มีอยู่ 4 ลักษณะด้วยกัน
1. หยุดโดยการเบาเสียง โดยค่อย ๆ เบาเสียงลงทีละน้อย ๆ จนหายไปในที่สุด
2. หยุดโดยการเบาเสียงเหมือนกันแต่เบาแล้วหยุดลมที่เป่า
3. หยุดลมที่เป่าแต่ไม่ต้องเบาเสียง
4. หยุดโดยทันทีทันใดโดยการใช้ลิ้นหยุด